OKay Training | บทความ วิธีลบข้อมูลออกจากโลกอินเทอร์เน็ต

6 วิธีลบข้อมูลตัวคุณออกจากโลกอินเทอร์เน็ต

เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว

โลกอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนเป็นโลกคู่ขนาดของคนยุคใหม่ ในอดีตถ้าอยากทานข้าวก็ต้องไปนั่งทานที่ร้าน ถ้าต้องการถอนเงินก็ต้องไปที่ธนาคาร ถ้าอยากไปช้อปปิ้งก็ต้องไปที่ห้างสรรพสินค้า แต่ปัจจุบันแทบทุกกิจกรรมสามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้หมด สร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต แต่นั้นก็ต้องยอมแลกกับการให้ข้อมูลส่วนตัวไว้บนโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

หลายครั้งที่เราต้องกรอกข้อมูลเพื่อสมัครแอคเคาท์หรือกรอกข้อมูลทางโทรศัพท์บนลิงค์โฆษณาชวนเชื่อ หรือแอบเผลอลงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ไว้บนเว็บบอร์ดแต่ไม่สามารถลบได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเว็บไซต์เหล่านั้นน่าเชื่อถือและจะไม่เอาข้อมูลของเราไปขายเพื่อทำการตลาด

ดังนั้นเพื่อทำการลบข้อมูลและตัวตนออกจากโลกอินเทอร์เน็ตนี่คือ 6 วิธีเบื้องต้นที่คุณควรรู้

1. ไม่ควรล็อกอินเว็บไซต์ด้วยบัญชีโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบันหลายเว็บไซต์หลายแอปพลิเคชันได้เปิดช่องทางการสมัครหรือเปิดใช้งาน โดยการให้ล็อกอินผ่าน Facebook, Twitter, LinkedIn และ Instagram สามารถสมัครง่ายแค่กดตกลงไปเรื่อยๆ ก็เสร็จแล้ว ไม่ต้องกรอกอีเมลหรือใส่รหัสผ่านให้ยุ่งยาก ซึ่งเว็บไซต์เหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นเว็บช้อปปิ้งหรือไม่ก็เป็นเว็บแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง หากสังเกตดี ๆ ในช่วงที่กดตกลงการสมัครเว็บต่าง ๆ พยายามจะเข้าถึงข้อมูลของเราในแอปฯ โซเชียลมีเดียและคลังภาพ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าวันหนึ่งในหน้าฟีตจะมีโฆษณารัวๆ เพราะเว็บมันจับพฤติกรรมความต้องการของเราได้หมด ควรเปลี่ยนมาใช้อีเมล์ในการสมัครแทน เพื่อลดการเข้าถึงข้อมูลในส่วนนี้ได้

2. ไม่ควรกรอกข้อมูลลงเว็บไซต์รวมข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ

บางครั้งเราต้องการสมัครงานหรือประกาศขายสินค้า ก็จะไปลงข้อมูลส่วนตัวในเว็บไซต์รวมสำหรับหางานหรือกลุ่มขายสินค้า ซึ่งข้อมูลบางอย่างมันระบุตัวตนของเรามากไป เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เลขบัญชี หรือประวัติการศึกษา โดยกลุ่มดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม ให้คนไม่หวังดีสามารถเข้าไปในกลุ่มเพื่อดึงข้อมูลของเราออกมาได้ทัน ดังนั้นการจะกรอกข้อมูลอะไรควรตรวจสอบความปลอดภัยของเว็บไซต์นั้นด้วย

3. คุณสามารถลบข้อมูลด้วยตนเองบนเว็บไซต์ได้

ข้อมูลที่คุณเคยโพสต์หรือเคยกรอกในการสมัคร คุณสามารถลบข้อมูลได้ด้วยตัวคุณเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในคำสั่ง Setting หรือสัญลักษณ์ฟันเฟือง หลักการลบข้อมูลก็จะคล้ายๆ กันในแต่ละเว็บไซต์ แต่ในกรณีที่ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถลบผ่านเมนูได้ อาจจะต้องใช้วิธีการเขียนอีเมล์ไปยังเว็บไซต์ที่สมัคร โดยสิ่งที่ควรคำนึงคือ ในอีเมล์ต้องระบุข้อมูลให้ชัดเจนว่าต้องการลบข้อมูลอะไรและบอกเหตุผลเพื่อเป็นการยืนยันเจตนา หลังจากนั้นก็เข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์บ่อยๆ เพื่อเช็คว่าข้อมูลได้หายออกไปแล้ว

4. ลบข้อมูลส่วนบุคคลออกจากเว็บไซต์ผ่านคนกลางอย่าง Google

หากใช้วิธีในข้อที่ 3. ไม่ได้ผล แนะนำให้ใช้วิธีนี้ คือการส่งคำขอทางกฎหมายไปยัง Google เพื่อลบข้อมูล ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้ต่อเมื่อคุณใช้งานผ่านเบราว์เซอร์ของ Google และข้อมูลนั้นต้องละเอียดอ่อนสำคัญจริงๆ เช่น หมายเลขประกันสังคม, หมายเลขบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลที่อาจสร้างความเสียหายกับเราได้ แต่ต้องทำใจไว้ว่ากระบวนการลบอาจใช้เวลาตรวจสอบนานและไม่มีการรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสำคัญ

5. ควรลบข้อมูลการใช้งานออกจากคอมพิวเตอร์สาธารณะทุกครั้ง

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ หลังจากใช้งานควรลบข้อมูลเกี่ยวกับการเสิร์ชหรือการล็อกอินออกทั้งหมด เพราะเดี๋ยวนี้เว็บไซต์หรือเบราว์เซอร์ มันจะมีปอปอัพแจ้งว่าต้องการบันทึกรหัสผ่านไหม ซึ่งการบันทึกจะเป็นการจดจำไว้บนตัวเครื่อง อาจทำให้คนใช้งานถัดไปรู้กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเราได้ ซึ่งวิธีลบจะอยู่ในเมนู settings ของเบราว์เซอร์ เลือกคำสั่ง “clear browsing data” คลิกเลือกลบทั้งหมด แล้วรอจนกว่ามันจะลบเสร็จสิ้น

6. ควรปิดอีเมลที่มีความเสี่ยง

หากคุณใช้อีเมล์ในการสมัครหรือใช้ทำงานในเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยง วิธีที่ดีที่สุดคือการปิดบัญชีอีเมลนั้นซะ ซึ่งการปิดบัญชีนั้นในขั้นตอนสุดท้าย ก็ระบุเหตุผลไปด้วยว่าทำไมถึงต้องการปิด เช่น การถูกคุกคาม ความไม่ปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งการปิดบัญชีต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน คุณจะต้องห้ามใช้อีเมลดังกล่าวเลยในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการปิดบัญชีโดยสมบูรณ์

ที่มา : cnet.com